top of page
CHS01140.jpg

ป่าชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดติดเมืองซึ่งกำลังเจริญและขยายตัวอย่างรวดเร็วนั้นเหลืออยู่ไม่มากนัก ป่าชุมชนบ้านลังกา ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เป็นป่าชุมชนที่ถูกท้าทายด้วยความเจริญ นายทุน และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทั้งการลักลอบตัดไม้ ล่าสัตว์ รวมทั้งปัญหาขยะที่ทำให้มีสารปนเปื้อนในแหล่งต้นน้ำ

ผู้นำหญิงของบ้านลังกาจึงรวมพลังกลุ่มเยาวชนในหมู่บ้าน สร้างภาคีเครือข่าย ร่วมกันพิทักษ์ป่าชุมชนของพวกเขา เพื่อป่าเพื่อน้ำ เพื่อแหล่งอาหารและระบบนิเวศบริการที่สมบูรณ์

CHS01077.jpg

ฟื้นป่า...หาตาน้ำ

ภายหลังการตัดถนนสายเวียงป่าเป้า-พร้าว ทำให้ทิศทางการไหลของลำห้วยจากต้นน้ำเปลี่ยนทิศทางไป ส่งผลให้บางส่วนของพื้นที่เกษตรบ้านลังกาขาดแคลนน้ำ กัลยา วรรณธิกุล ผู้ใหญ่บ้าน บ้านลังกา จึงมีความคิดริเริ่มแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำด้วยการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนที่เคยเป็นแหล่งต้นน้ำของชุมชนขึ้น

"ดีใจจังลูก ๆ ของฉันออกใบแล้ว" กัลยาเล่าถึงการขึ้นมาสำรวจต้นไม้ที่ลงมือปลูกไว้เพื่อฟื้นฟูป่าชุมชนของบ้านลังกา  ต้นกล้าของไม้หลายชนิด เช่น ยางเหียง ประดู่ พญาเสือโคร่ง ลูกหว้า มะขามป้อม กระท้อน มะแขว่น ปลูกไว้ทั่วป่าชุมชน  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก และกรมป่าไม้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง ขณะที่ปีนี้ฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้กล้าไม้ที่ปลูกต่างผลิใบทั่วผืนป่าชุมชน แม้จะมีบางชนิดที่ตายไปบ้างแต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง พวกเขาหวังว่าอีกไม่นานป่าต้นน้ำนี้จะเต็มไปด้วยต้นไม้ที่ชาวบ้านร่วมกันปลูก เพื่อฟื้นฟูป่าและคืนแหล่งน้ำที่เคยมีให้กับชุมชนได้กินได้ใช้  

ด้านการจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนั้น ทางชุมชนมีการทำฝายไว้เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง และยังมีฝายดักตะกอนเพื่อกรองน้ำให้มีคุณภาพอีกด้วย ระบบการทำฝายได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายและผู้มีความเชี่ยวชาญมาช่วยด้วย

ส่วนการจัดการไฟป่านั้น แม้ว่าชาวบ้านจะมีการทำแนวกันไฟอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันไฟป่าได้ทั้งหมด กลุ่มเยาวชนอาสาจึงได้เริ่มแนวคิดการใช้เทคโนโลยีมาช่วย โดยนำเอาแอพพลิเคชั่นรายงานจุดความร้อน (Hot Spot) ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายเข้ามาใช้เพื่อให้การป้องกันการเกิดไฟป่าและการดับไฟป่าให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น แอพพลิเคชั่นดังกล่าวคือ Smoke Watch ที่สามารถรายงานจุดความร้อนได้แบบ near real-time ซึ่งพัฒนาด้วยความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงาน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) US Agency for International Development (USAID) 

ในส่วนของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง ก็มีงบประมาณในการเฝ้าระวังไฟป่าลงมาสมทบด้วย มีการจัดตั้งเวรยามตลอดหนึ่งเดือนในช่วงฤดูร้อนที่มีความเสี่ยง ซึ่งเป็นภาพความร่วมมือระดับท้องถิ่นที่ชาวบ้านและ ปอท. ทำงานเพื่อการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

CHS02187.jpg

ปัญหาขาดแคลนที่ทำกินและการครอบครองที่ดินของนายทุน

ปัจจุบันอำเภอเวียงป่าเป้ากำลังขยายตัว มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีกลุ่มทุนเข้ามาจับจองครอบครองที่ดินเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนพื้นที่ทำกินของชาวบ้านหลายชุมชน และหลายฝ่ายยังมีความกังวลต่อการบุกรุกพื้นที่ป่าของชุมชนด้วย ในอนาคตหากไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาควบคุมการครอบครองที่ดินและจัดการด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เมืองที่เต็มไปด้วยป่าไม้อย่างเวียงป่าเป้าอาจจะพบกับความเสื่อมโทรมในที่สุด 

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อีกหลายแห่งที่ปล่อยให้คนต่างถิ่นมาเช่าทำการเกษตร ซึ่งรูปแบบการเกษตรเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีและน้ำจำนวนมากก็ส่งผลต่อระบบนิเวศของชุมชนด้วยเช่นกัน การแก้ปัญหาเล่านี้เป็นเรื่องที่ท้าทาย และต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากหลายฝ่าย

อีกปัญหาที่พอเจอบ่อยคือปัญหาขยะในป่าชุมชน การที่ป่าชุมชนบ้านลังกาอยู่ติดถนนสายหลักทำให้มีการลักลอบเอาขยะมาทิ้งไว้ชายป่าเป็นจำนวนมาก แม้จะมีการตรวจจับปรับ ปัญหาก็ยังไม่หมดไป ปัญหาขยะนี้ส่งผลต่อคุณภาพน้ำโดยตรง สารปนเปื้อนจากขยะจะสะสมและไหลลงสู่พื้นที่ต่ำ ทั้งในพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของชุมชน และสุดท้ายก็จะไหลลงสู่แม่น้ำลาว 

CHS02233.jpg

บทบาทสตรีและกลุ่มเยาวชน

ผู้นำหญิงคนเดียวของอำเภอเวียงป่าเป้า เป็นส่วนผสมที่ลงตัวในการเชื่อมโยงกับกลุ่มเยาวชนในการทำงานพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต การเป็นผู้นำหญิงนั้นอาจจะมีการตั้งคำถามมากมายกับภาระหน้าที่รับผิดชอบ แต่แม่หลวงกัลยา ก็แสดงให้เห็นความเท่าเทียมกันในทุกมิติ ทั้งแนวคิด วิธีการพัฒนาบุคลากรในชุมชน แนวคิดการจัดการสิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติงานในพื้นที่จริง "แม่หลวงขึ้นไปหมดทุกยอดดอยแถวนี้แล้ว จะทำงานรักษาป่าก็ต้องขึ้นไปดูป่าด้วยตัวเอง" กัลยาเล่าถึงบทบาทการทำหน้าที่ผู้นำในการจัดการสิ่งแวดล้อม ความทุ่มเทในการรักษาสิ่งแวดล้อมส่งผลให้เกิดความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่เล็งเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศบริการที่เสื่อมโทรมลงไปในบ้านเกิดของพวกเขา และอยากให้กลับมาสมบูรณ์ดังที่คนรุ่นปู่ ย่า ตา ยายเคยได้ใช้ประโยชน์

"เมื่อก่อนตายายของพวกผมก็ขึ้นมาเก็บพริกกะเหรี่ยง เก็บมะเขือส้มที่นี่แหละครับเอาไปทำน้ำพริกอ่อง แล้วก็เจอพวกกระรอก กระแต บ่อยครับ" ใต้ เยาวชนอาสาบ้านลังกาพิทักษ์รักษ์ผืนป่าพูดถึงป่าชุมชนหลังวัด (ป่าฮ่อมวัด) ชี้ให้เห็นว่าในอดีตป่าแถบนี้มีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารให้ชุมชน โดยป่าฮ่อมวัดนี้เกิดจากภาคเอกชนได้นำกล้าไม้มาให้หมู่บ้านร่วมกันปลูกป่าเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ชาวบ้านร่วมกันดูแลเป็นพื้นที่ป่าชุมชน ปัจจุบันแม้จะเสื่อมโทรมไปบ้างจากไฟป่าแต่ก็อยู่ระหว่างที่ชุมชนกำลังฟื้นฟูทรัพยากรป่าต้นน้ำแห่งนี้ให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง 

CHS01585.jpg

เรียนรู้การดูแลป่าจากปราชญ์ปกาเกอะญอ

การเชื่อมโยงของผู้นำสตรีและกลุ่มเยาวชนกับภาคีเครือข่ายในชุมชนลุ่มน้ำแม่ลาวนั้นก่อให้เกิดการเรียนรู้การจัดการป่าได้อย่างดี

โดยแม่หลวงกัลยาได้นำพากลุ่มเยาวชนไปเรียนรู้การดูแลป่าและศึกษาชนิดพันธุ์พืช การใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืนกับพ่อปรีชา ศิริ ปราชญ์ปกาเกอะญอ แห่งบ้านห้วยหินลาดใน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการนำไปปรับใช้ในการดูแลฟื้นฟูระบบนิเวศบริการป่าชุมชนบ้านลังกาเป็นอย่างมาก ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างชุมชนก่อให้เกิดความร่วมมือและสร้างเครือข่ายในการดูแลป่าร่วมกันในระดับภูมินิเวศได้อย่างดี 

ทิศทางการพัฒนาบ้านลังกา

แผนพัฒนาของชุมชนบ้านลังกาที่สำคัญคือ การมีแหล่งน้ำในชุมชนสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร เพราะในปัจจุบันรูปแบบการเพาะปลูกนั้นอยู่ที่บริเวณราบลุ่มรอบชุมชนใกล้กับแม่น้ำลาว ชุมชนต้องการพัฒนาแหล่งต้นน้ำและพื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อจะเริ่มทำการเกษตรผสมผสานจากพื้นที่ส่วนบนของหมู่บ้านลงมา เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและระบบนิเวศบริการที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งชุมชน และเมื่อชุมชนมีทรัพยากรที่พร้อม การสร้างอาชีพในชุมชนก็จะเกิดขึ้นตามมา  เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนที่มีต้นทุนทางธรรมชาติเป็นฐาน ดังนั้นการส่งเสริมการจัดการและฟื้นฟูระบบนิเวศบริการในป่าชุมชนจึงเป็นส่วนสำคัญของการเริ่มต้นการเพิ่มศักยภาพระบบนิเวศบริการในระดับภูมินิเวศของลุ่มน้ำแม่ลาว 

จากการสนับสนุนของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกและหน่วยงานต่าง ๆ นั้นถือเป็นก้าวแรกในการลงมือปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนบ้านลังกา อีกทั้งยังได้ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและให้ความสำคัญกบกลุ่มเยาวชนในการพัฒนาศักยภาพด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย

 

"เรายังไม่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้ เพิ่งเคยรับทุนครั้งแรก แต่เราทุ่มเทเต็มที่และพร้อมที่จะเรียนรู้การทำงานจากภาคีเครือข่ายอยู่เสมอ" กัลยา วรรณธิกุล กล่าวทิ้งท้าย

อ่านข้อมูลบ้านลังกาเพิ่มเติมได้ที่ "กรณีศึกษา : บ้านลังกาพิทักษ์รักผืนป่า"  https://www.gefsgpthailand.org/ban-lang-ka

bottom of page