FOOD
FROM
THE
RIVER
ฟื้นฟูความหลากหลายในลุ่มน้ำพุง อ.ด่านซ้าย จ.เลย
"พันธุ์ปลาท้องถิ่นในแม่น้ำพุงมีหลากหลาย เป็นแหล่งอาหารในช่วงฤดูแล้ง แต่ก็พบปัญหาสารเคมีที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำทำให้มีความเสี่ยงต่อระบบนิเวศในลำน้ำพุง อีกทั้งการพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำก็ส่งผลต่อที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำอื่นๆด้วย"
ลุ่มน้ำพุง เทือกเขาเพชรบูรณ์-เลย
ลุ่มน้ำพุงเป็นลุ่มน้ำย่อย ส่วนที่ 2 ของลุ่มน้ำป่าสัก โดยลุ่มน้ำพุงมีความสำคัญในการเป็นต้นน้ำ ซึ่งในระบบนิเวศน์มีลำน้ำสายเล็กๆ เหมือนเลือดฝอยที่ไหลหล่อเลี้ยงลุ่มน้ำพุงมากมาย ได้แก่ ห้วยชะนางงู ห้วยตอง ห้วยลาด ห้วยกกเม่า ห้วยน้ำมี ห้วยดงทิพย์ ห้วยทุ่งเทิง ห้วยปมปลาหวาย ห้วยแงด ห้วยโป่ง ห้วยโป่งบง ห้วยขาไก่ เพราะฉะนั้น ด้วยลักษณะนิเวศน์ที่มีลำน้ำสายเล็กสายน้อยกระจายตัวอย่างหนาแน่น จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณพืช พรรณสัตว์ และป่าไม้หลากหลายชนิด
โดยเฉพาะความหลากหลายของสัตว์น้ำและพืชพันธุ์ริมน้ำล้วนเป็นแหล่งอาหารของผู้คนสองฝั่งแม่น้ำพุง มาอย่างยาวนาน แต่ก็มีภัยคุกคามหลายด้านจากภาคการเกษตรเชิงเดี่ยวและขาดการดูแลระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
ความหลากหลายของสัตว์น้ำและพืชพันธุ์ริมน้ำล้วนเป็นแหล่งอาหารของผู้คนสองฝั่งแม่น้ำ มาอย่างยาวนาน แต่ก็มีภัยคุกคามหลายด้านจากภาคการเกษตรเชิงเดี่ยวและขาดการดูแลระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
รสชาติที่หลากหลายจากสายน้ำพุง
แม่น้ำพุงมีความหลากหลายของพันธุ์ปลาอย่างมาก ในฤดูหาปลาช่วงเดือนเมษายนชาวบ้านจะจับปลากันด้วยเครื่องมือจับปลาแบบพื้นบ้าน ไม่ใช้ระเบิดหรือไฟช็อต ซึ่งจะทำให้พันธุ์ปลาเล็กปลาน้อยที่เป็นห่วงโซ่อาหารลดลง ด้านรูปแบบการทำเกษตรเกษตรเชิงเดี่ยวนั้นเป็นภัยคุกคามทั้งต่อแหล่งอาศัยและคุณภาพน้ำของแม่น้ำพุงเช่นกัน ปริมาณสารเคมีที่ไหลลงสู่แม่น้ำในช่วงฤดูฝนนั้นเสี่ยงต่อการปนเปื้อนที่เป็นอันตรายทั้งปลาและคนใช้น้ำ รวมทั้งต้นไม้ที่ไวต่อสารเคมี เช่น ทุเรียนด้วย "พอฝนตกทีหนึ่ง ขวดยาฆ่าหญ้าฆ่าแมลงก็ไหลลงไปในแม่น้ำเต็มไปหมด บางคนวางไว้ริมห้วยตอนผสมน้ำไปฉีดในไร่ บางคนก็โยนลงแม่น้ำเลยก็มี" พ่อฉลาดเล่าถึงปัญหาการทิ้งขวดสารเคมีลงแหล่งน้ำ
ปลา กุ้ง ปู หอย หน้าตาแปลกๆ ที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามภาษาถิ่นวางอยู่บนโต๊ะในครัวที่สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ เพื่อเตรียมนำมาปรุงเป็นอาหาร เตาฟืนและหม้อต้มพร้อมอยู่ข้างๆ ทั้งปลากระทิง ปลากั้ง ปูแม่น้ำ และปลาอื่นๆ ถูกนำไปต้มรวมกับผักพื้นบ้านอีกหลายชนิด และไฮไลท์ในชามก็คือดอก "บีกั้ง" ที่มีรสหวานปนขมซึ่งมีให้กินเพียงปีละครั้งในช่วงฤดูหนาว
อาหารมื้อหนึ่งของชาวบ้าน มักบอกเล่าเรื่องราวความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงทางอาหารได้อย่างชัดเจน การรักษาไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่หลากหลาย ทำให้แหล่งอาหารนั้นมั่นคงตามไปด้วย วิถีวัฒนธรรมที่พึ่งพาธรรมชาติอาจเป็นคำตอบของการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนในอนาคต นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว เรายังต้องมองถึงเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิต วิถีวัฒนธรรมพร้อมไปกับการพัฒนาด้วย
เมื่อมองภาพความสัมพันธ์ของการหาอยู่หากินของชาวบ้านในลุ่มน้ำพุงด้วยการพึ่งพิงธรรมชาติแล้วจึงเห็นหนทางแห่งการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม เป็นความท้าทายและความหวังใหม่ในการต่อยอดเพื่อขยายขอบเขตการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศบริการพร้อมกับสร้างรายได้และแหล่งอาหารอย่างยั่งยืนต่อไปในพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย